หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เลือกโฮมเธียเตอร์ระบบ 5.1 หรือ 7.1 ดี?

ผมเชื่อว่า หนึ่งในคำถามยอดฮิตสำหรับท่านที่กำลังคิดจะเลือกชุดโฮมเธียเตอร์มาใช้ คือ จะเอาแบบ 5.1 หรือ 7.1 แชนเนลดี? โฮมเธียเตอร์ 5.1, 7.1 คืออะไร? แตกต่างกันอย่างไร? และแบบไหนเหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบันมากกว่ากัน? วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับ

วัตถุประสงค์บทความนี้ เป็นหนึ่งใน "ชุดข้อมูลความรู้โฮมเธียเตอร์เบื้องต้น" สำหรับทุกท่านที่สนใจ หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มสนใจ แต่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ให้มีแนวทางประกอบการตัดสินใจในการเลือกโฮมเธียเตอร์สักชุดหนึ่ง

หมายเหตุ: สำหรับท่านที่เพิ่งอ่านบทความในชุด Basic Home Theater FAQ นี้เป็นครั้งแรก แนะนำให้อ่านบทความแรกก่อน คือ Basic Home Theater FAQ - รู้จักกับระบบโฮมเธียเตอร์ เพื่อให้เข้าใจภาพรวมของระบบโฮมเธียเตอร์ รวมถึงความหมายของศัพท์เทคนิคต่างๆ บางคำ ที่มิได้มีการอธิบายซ้ำในบทความนี้ครับ

"ตัวเลข 2.0 (Stereo), 2.1, 5.1 หรือ 7.1 คือ อะไร ?"

ตัวเลข 2.0 (Stereo), 2.1, 5.1 และ 7.1 มีที่มาจาก จำนวนช่องสัญญาณเสียงอ้างอิงจากมาตรฐานการบันทึกเสียงของแหล่งโปรแกรม จำนวนช่องสัญญาณเสียงดังกล่าว เมื่อนำมาสร้างความบันเทิงในบ้านพักอาศัย จึงเท่ากับจำนวนของ "แหล่งกำเนิดเสียง" ที่ใช้ในขั้นตอนเล่นกลับ (Playback) หรือในที่นี้ก็คือ ลำโพง (และภาคขยาย) ในระบบโฮมเธียเตอร์นั่นเอง

= Front Left, 2 = Front Right, 3 = Center, (.1) = Subwoofer
4
 = Surround Left, 5 = Surround Right
6
 = Surround Back Left, 7 = Surround Back Right
ความสัมพันธ์ระหว่าง "จำนวนลำโพง" กับ "ช่องเสียง" ของมาตรฐานระบบเสียง
ในภาพเป็นการอ้างอิงมาตรฐานจากหนึ่งในผู้กำหนดระบบเสียงเซอร์ราวด์ของภาพยนตร์ คือ Dolby Digital
ยกตัวอย่างจำนวนช่องเสียง จากมาตรฐานการบันทึกเสียงคอนเทนต์ในปัจจุบัน เช่น ซีดีอัลบั้ม จากอุตสาหกรรมเพลง การบันทึกเสียงจะเป็นรูปแบบสเตริโอ (2 แชนเนล) การรับฟังกับซิสเต็มเครื่องเสียง ในทางทฤษฎีเพียงแค่มีลำโพง 1 คู่ ก็สามารถตอบสนองอรรถรสการรับฟังดนตรีจากซีดีเพลงแผ่นนั้นได้อย่างครบถ้วน ในขณะที่มาตรฐานการบันทึกเสียงภาพยนตร์ เป็นรูปแบบเซอร์ราวด์หลายช่องเสียง ที่มีจำนวนมากก็เพื่อผลด้านการสร้างสนามเสียงรายล้อมจากหลายทิศทาง อันเป็นเอ็ฟเฟ็กต์เสียงประกอบที่เป็นเครื่องมือสร้างอารมณ์ร่วม เพื่อดึงผู้รับชม (ฟัง) เข้าสู่เหตุการณ์ในภาพยนตร์

ปัจจุบันจำนวนช่องเสียงหลักสำหรับภาพยนตร์ คือ 5 และ 7 แชนเนล (จากการบันทึกเสียงในตามมาตรฐานระบบเสียง Dolby Digital และ DTS) อย่างไรก็ดี ในกรณีของภาพยนตร์จะมีเสียงเอฟเฟ็กต์พิเศษอีกย่านหนึ่งที่ได้รับการมิกซ์เพิ่มเติมเข้ามา แต่มิได้เกี่ยวข้องกับทิศทางของเสียง ทว่ามีหน้าที่เติมเต็มอรรถรส "ย่านเสียงต่ำ" (Low Frequency Effect - LFE) จากเหตุผลที่ช่องเสียงนี้เน้นเฉพาะย่านเสียงต่ำ (<120Hz) มิได้ครอบคลุมตลอดย่าน (Full-range ~20Hz - 20kHz) เหมือนเช่นลำโพงหลัก จึงใช้ตัวเลข ".1" กำกับแทนเลขจำนวนเต็ม แน่นอนว่าอุปกรณ์ที่รับหน้าที่ในการสร้างเสียงเอฟเฟ็กต์ย่านนี้โดยตรงในขั้นตอนเล่นกลับ ก็คือ ลำโพงซับวูฟเฟอร์ (พร้อมภาคขยาย) นั่นเอง

หมายเหตุ: เสียงเอฟเฟ็กต์ ย่านเสียงต่ำ มีความสำคัญมากในการเติมเต็มความสมจริง เช่น เพิ่มความลึก และหนักหน่วงให้กับเสียงระเบิด เสียงไอพ่นเครื่องบิน เสียงไดโนเสาร์กระทืบเท้า เสียงคำรามของรถยนต์ ฯลฯ บางครั้งก็สามารถให้แรงสั่นสะเทือนได้ด้วย
  
ระบบเสียง 5.1 และ 7.1 มีพื้นฐานเดียวกัน คือ เป็นระบบเซอร์ราวด์มัลติแชนเนลทั้งคู่ ต่างกันที่ระบบ 7.1 มีลำโพงเซอร์ราวด์แบ็คเพิ่มเข้ามาอีก 1 คู่ (SBL, SBR) เท่านั้น... แล้วลำโพงเซอร์ราวด์แบ็คนี้มีหน้าที่สำคัญอย่างไร? เดิมทีในระบบ 5.1 นั้น ลำโพงเซอร์ราวด์ (SL, SR) จะรับหน้าที่ในการถ่ายทอดเสียงเอฟเฟ็กต์ที่มีทิศทางจากด้านข้าง ครอบคลุมเลยลึกไปถึงด้านหลังตำแหน่งนั่งฟัง ในการใช้งานปกติ (ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม) เสียงเอฟเฟ็กต์จากลำโพงเซอร์ราวด์อาจตอบสนองการใช้งานได้ดี (ในการสร้างมิติเสียงรายล้อม) แต่บางสภาพแวดล้อม เช่น ในห้องใหญ่ ภาระหน้าที่ของลำโพงเซอร์ราวด์จะหนักมาก จากการพยายามถ่ายทอดเสียงรายล้อมให้ผลครอบคลุมพื้นที่คาดหวังค่อนข้างกว้าง ในขณะที่ระยะของลำโพงจำต้องอยู่ห่างกันมาก ในจุดนี้ลำโพงเพียงคู่เดียวอาจมีศักยภาพไม่เพียงพอ การเพิ่มเติมลำโพงเซอร์ราวด์แบ็ค ที่รับหน้าที่สร้างสนามเสียงเอฟเฟ็ต์ด้านหลังจุดนั่งฟังโดยเฉพาะอีก 1 คู่ จึงเข้ามาเติมเต็มช่องโหว่ตรงนี้ได้แต่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เมื่อผู้ผลิต (ค่ายผู้ผลิตภาพยนตร์) ทำการบันทึกเสียงสำหรับช่องเสียงเซอร์ราวด์แบ็คนี้ เพื่อให้ผลลัพธ์การรับฟังในขั้นตอนการเล่นกลับสามารถตอบสนองการใช้งานได้สูงสุดดังประสงค์
ปัจจุบันนอกจาก 5.1 และ 7.1 ยังมีระบบเสียงเซอร์ราวด์ที่คาบเกี่ยวคั่นกลางอยู่ คือ 6.1 กล่าวคือ เป็นการใช้งานลำโพงเซอร์ราวด์แบ็คเพียงแชนเนลเดียว แต่เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่ไม่ได้รับความนิยม จึงไม่ขอกล่าวถึง
(ในอีกนัยหนึ่ง อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ในระบบ 7.1 ก็สามารถตอบสนองในส่วนของ 6.1 ได้เต็มศักยภาพ)

หมายเหตุ: ทางออกอีกวิธีหนึ่ง ที่มักถูกนำมาใช้ในการเพิ่มศักยภาพของลำโพงเซอร์ราวด์ ในระบบ 5.1 ในการสร้างสนามเสียงรายล้อมครอบคลุมพื้นที่กว้างนอกเหนือจากการใช้ลำโพงเซอร์ราวด์แบ็ค (7.1) คือ การใช้งานลำโพงเซอร์ราวด์แบบ Bipole หรือ Dipole ซึ่งเป็นรูปแบบที่ THX แนะนำ (Dipole) ทั้ง 2 ลักษณะนี้เป็นการออกแบบติดตั้งไดรเวอร์ลำโพงให้มีการยิงเสียงออกไป 2 ทิศทางพร้อมกัน จึงครอบคลุมพื้นที่คาดหวัง ได้กว้างกว่า แต่ลำโพงรูปแบบนี้จะเหมาะกับการรับชมภาพยนตร์ ที่ไม่เน้นการชี้ชัดตำแหน่งทิศทางของเสียงเซอร์ราวด์มากเท่ากับมาตรฐานการฟังเพลงแบบมัลติแชนเนล (เช่น การบันทึกเสียงของ SACD Multi-channel) 
ส่วนระบบ 2.1 เป็นรูปแบบย่อย ที่แตกแขนงออกมาจากการรับฟังแบบ 2 แชนเนล ถือเป็นรูปแบบที่ใช้ในการเล่นกลับ (Playback) มิใช่มาตรฐานที่ใช้ในการบันทึกเสียง โดยเป็นการนำลำโพงย่านต่ำ หรือ ซับวูฟเฟอร์มาเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบลำโพงหลัก จากเหตุผลที่การบันทึกเสียง 2 แชนเนล เป็นการมิกซ์เสียงแบบเต็มย่าน ตั้งแต่ต่ำยันสูง ลำโพง (และภาคขยาย) ในอุดมคติสำหรับการฟังเพลง 2 แชนเนล จึงควรต้องมีขนาดใหญ่ เพื่อให้การตอบสนองความถี่เสียงครอบคลุมตลอดย่านดังกล่าว การผนวกลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาในระบบ จึงช่วยแบ่งเบาภาระการทำงานในย่านความถี่ต่ำของลำโพงหลักได้ ผลพลอยได้ที่ตามมา คือ ขนาดลำโพงจะกะทัดรัดมากขึ้น

นอกจากนี้ 2.1 ยังเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถตอบสนองเสียงย่านต่ำจากการรับชมภาพยนตร์ เมื่อทำการ Down mix ระบบเสียง 5.1/7.1 ไปเป็น 2.1 แม้จะยุบจำนวนลำโพงเซอร์ราวด์ลง แต่ซับวูฟเฟอร์จะยังคงรับหน้าที่สำคัญสำหรับเอ็ฟเฟ็กต์ย่านความถี่ต่ำลึก หรือ .1 นี้ได้  อรรถรสหลักในการรับชมภาพยนตร์ก็จะยังอยู่ครบถ้วน เพราะช่องเสียงความถี่ต่ำ ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างอรรถรสในการรับชมภาพยนตร์ แต่ผลเสียของระบบ 2.1 ก็มีเช่นกัน คือ เรื่องของความกลมกลืนในการเซ็ตอัพซับวูฟเฟอร์ให้ผสานกับลำโพงหลัก หากจุดนี้ทำได้ไม่ลงตัว จะรู้สึกถึงความแปลกแยกในย่านการตอบสนองความถี่รวมของระบบลำโพง ฟังแล้วมีรอยต่อของเสียงที่ไม่กลมกลืน จึงขาดความเป็นธรรมชาติ แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ช่วยให้เราได้ความกลมกลืนนี้ได้ง่ายขึ้นด้วยระบบ Auto Speaker Calibration ที่เป็นระบบตรวจวัดและตั้งค่าลำโพงโฮมเธียเตอร์ต่างๆ ให้โดยอัตโนมัติ (พบได้กับ AVR/Pre Processor ส่วนใหญ่ ในชุดโอมเธียเตอร์แยกชิ้น รวมถึงชุด HTiB บางรุ่น)
หมายเหตุ: บางกรณีอาจพบเห็นตัวเลข 2.2, 5.2, 7.2 แชนเนล ฯลฯ .2 คือ จำนวนซับวูฟเฟอร์ที่ใช้ในระบบ (ในที่นี้ คือ 2 ชุด มักกำกับอยู่ที่ AVR) โดยเป็นแนวทางหนึ่งในการใช้งานระบบเครื่องเสียง และโฮมเธียเตอร์ (ใช้ในขั้นตอนเล่นกลับ มิได้เป็นมาตรฐานในการบันทึกเสียง) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการเติมเต็มเสียงย่านความถี่ต่ำ โดยการเพิ่มจำนวนซับวูฟเฟอร์เข้ามาในระบบ (มากกว่า 1 ชุด) 
นอกเหนือจากจำนวนลำโพงที่ต้องใช้ในระบบแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง "ตำแหน่งตั้งวางลำโพง" กับ "ตำแหน่งอ้างอิง" ตามมาตรฐานการติดตั้งระบบเสียงรอบทิศทาง ก็เป็นข้อมูลหนึ่งที่ควรทราบเช่นเดียวกัน เนื่องจากจะส่งผลถึงศักยภาพในการตอบสนองเสียงเซอร์ราวด์ของระบบลำโพงโดยตรง ตำแหน่งที่ดีที่สุด คือ ตำแหน่งเดียวกับที่ผู้ผลิตใช้อ้างอิง (ในภาพเป็นการอ้างอิงมาตรฐานจากหนึ่งในผู้กำหนดระบบเสียงเซอร์ราวด์ของภาพยนตร์ คือ Dolby Digital)
หมายเหตุ: 
- รูปแบบตำแหน่งการวางลำโพงข้างต้น เป็นการอ้างอิงสภาพแวดล้อมแบบสมมาตร ระยะห่างของลำโพงซ้ายกับขวาถึงจุดนั่งฟังมีระยะที่เท่ากัน ซึ่งเป็นการจัดวางลำโพงโฮมเธียเตอร์ที่ดีที่สุดตามอุดมคติ อย่างไรก็ดีในสภาพใช้งานจริงระยะห่างของลำโพงอาจยืดหยุ่นจากนี้ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการกำหนดชดเชยค่ากำหนด (Distances/ Delay Time) อย่างเหมาะสม
- ตัวเลของศา วัดจากแกนอ้างอิงเสมือน คือ แนวเส้นตั้งฉากกับจอภาพ หรือก็คือเส้นตรงที่ลากจากจอภาพไปยังจุดรับชม



Basic Home Theater FAQ เลือกโฮมเธียเตอร์ระบบ 5.1 หรือ 7.1 ดี?.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://hdplayerthailand.com/article_detail.asp?topic_id=624 (วันที่ค้นข้อมูล : 29 ตุลาคม 2558).



วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เสียง 5.1 กับ 7.1 ต่างกันยังไง?

ก่อนอื่นเนีย ก่อนที่เราจำเข้าเรื่องของโปรแกรม เราจะต้องทราบถึงที่มาของเสียงก่อน นั้นคือระบบ 5.1 กับ 7.1 โดยทาง Dolby Atmos ถือว่าเป็นเทคโนโลยีความบันเทิงที่ดีที่สุดด้านภาพและเสียงในปัจจุบัน

การรับชมภาพยนตร์ “เสียง” มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าภาพ หากยกระดับประสิทธิภาพการถ่ายทอดเสียงของภาพยนตร์ได้ อรรถรสของการรับชมย่อมเพิ่มสูงขึ้น ในจุดนี้ ท่านที่ใช้งานซิสเต็มโฮมเธียเตอร์ล้วนมีเป้าหมายเพื่ออรรถรสจากการรับชมภาพยนตร์สูงสุด ซึ่งเป้าหมายนี้ก็ไม่ต่างจาก “พันธกิจ” ของ Dolby ที่ต้องการสร้างมาตรฐานการรับชมภาพยนตร์ด้วยระบบเสียงที่สมจริงกว่าเคย พิสูจน์ได้จากการมุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานระบบเสียงใหม่ Dolby Atmos และเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในต่างประเทศเมื่อเดือนเมษายน ปี 2012... สำหรับประเทศไทย ช่วงเวลา 1 – 2 ปีที่ผ่านมาหลายท่านน่าจะได้สัมผัสระบบเสียงใหม่นี้ในโรงภาพยนตร์กันบ้างแล้ว(1)  และขณะที่ท่านกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ระบบเสียง Dolby Atmos Home Theater พร้อมสำหรับใช้งานในบ้านพักอาศัยแล้วเช่นกัน เพื่อมิให้เสียเวลา เราจะมาทำความรู้จักกับ Dolby Atmos ว่าจะให้ประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง


Welcome To A New World Of Sound
คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Dolby กับบทบาทผู้กำหนดมาตรฐานระบบเสียงรอบทิศทางในโรงภาพยนตร์ที่เราๆ ท่านๆ รับชมกันอยู่ทุกวันนี้ ถึงแม้ในแวดวงโฮมเธียเตอร์ที่ผ่านมา รัศมีของ Dolby ถูกบดบังลงไปมาก เนื่องด้วยมาตรฐานการรับชมภาพยนตร์ในบ้านพักอาศัยผ่านระบบเสียง HD ที่บันทึกมากับฟอร์แม็ตบลูเรย์ มักจะเป็นระบบเสียงจากทางฝั่งของ DTS (Digital Theater Systems) เสียมาก (2)  แต่ถึงกระนั้นบทบาทของ Dolby ในแวดวงการผลิตภาพยนตร์ตั้งแต่ต้นน้ำ ในขั้นตอน Post Production ในสตูดิโอบันทึกเสียง ไปจนถึงปลายน้ำอย่างการนำเสนอมาตรฐานระบบเสียงในโรงภาพยนตร์นั้น มิได้ลดลงเลย

นับจากวันเปิดตัว Dolby Atmos ถูกคาดหวังให้เป็นมาตรฐานระบบเสียงในโรงภาพยนตร์ยุคใหม่ ที่จะส่งมอบประสบการณ์รับชมภาพยนตร์สมจริงยิ่งกว่าเคย จากประสิทธิภาพถ่ายทอดสนามเสียงรายล้อมที่จะปฏิวัติระบบเสียงในอดีตไปอย่างสิ้นเชิง… อะไรที่ทำให้ Dolby Atmos แตกต่างจากระบบเสียงเซอร์ราวด์ของโรงภาพยนตร์ทั่วไป? คำตอบคงต้องย้อนกลับไปดูมาตรฐานระบบเสียงในโรงภาพยนตร์ทั่วไปในปัจจุบันก่อนว่าเป็นเช่นไร


Dolby Atmos in The Cinema
เป็นที่ทราบกันว่า ระบบเสียงในโรงภาพยนตร์ซับซ้อนแตกต่างจากระบบโฮมเธียเตอร์ที่ใช้งานในบ้านพักอาศัยอยู่หลายประการ ที่เห็นได้ชัด คือ ขนาดสเกลของระบบที่ใหญ่กว่ามาก อย่างไรก็ดีในแง่การถ่ายทอดเสียงรอบทิศทางนั้น โรงภาพยนตร์และโฮมเธียเตอร์หาได้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงไม่ โดยพื้นฐานยังคงอิงการถ่ายทอด “ช่องสัญญาณเสียง” ตามมาตรฐาน 5.1 หรือ 7.1 แชนเนล เหมือนกัน
ระบบเสียงโรงภาพยนตร์ทั่วไปในปัจจุบัน ที่ยังไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นระบบ Dolby Atmos จะอิงมาตรฐานการถ่ายทอด "ช่องสัญญาณเสียง" แบบหยาบๆ ตามระบบ 7.1 (หรือ 5.1) ประกอบไปด้วยลำโพงคู่หน้า (L/R), เซ็นเตอร์ (C), ซับวูฟเฟอร์ (LFE), เซอร์ราวด์ (Lss/Rss) และเซอร์ราวด์แบ็ค (Lrs/Rrs) ดังนี้ถึงแม้จำนวนลำโพงในโรงภาพยนตร์จะมีมากกว่า แต่โดยพื้นฐานก็ไม่ต่างจากระบบโฮมเธียเตอร์ที่ใช้ลำโพง 7.1 (หรือ 5.1 แชนเนล)

ด้วยขนาดพื้นที่ที่กว้างใหญ่กว่า ความท้าทายของระบบเสียงในโรงภาพยนตร์นั้นอยู่ที่ จะดำเนินการอย่างไรให้สามารถถ่ายทอดเสียงเซอร์ราวด์รอบทิศทางจากช่องสัญญาณเสียงเพียง 5.1/7.1 แชนเนล ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่รับชม (ที่มีมากมายนับร้อยที่นั่ง) เหตุนี้จำนวนลำโพงเซอร์ราวด์ด้านข้างและด้านหลังจำนวนมาก จึงถูกติดตั้งจัดวางเรียงรายต่อเนื่องโอบล้อมเป็นพื้นที่กว้าง เพื่อขยายขอบเขตสนามเสียงจากช่องสัญญาณเสียงเซอร์ราวด์และเซอร์ราวด์แบ็คนี้ให้ครอบคลุมทุกตำแหน่งแถวที่นั่งนั่นเอง ลำโพงเซอร์ราวด์และเซอร์ราวด์แบ็คที่ถูกเสริมเข้ามาเป็นจำนวนมากในโรงภาพยนตร์ จึงมิได้ให้ผลลัพธ์ในแง่แจกแจงรายละเอียดตำแหน่งทิศทางเสียงที่ชัดเจนมากกว่าระบบโฮมเธียเตอร์ที่ใช้งานลำโพงเซอร์ราวด์ และเซอร์ราวด์แบ็คเพียงอย่างละคู่

จากรายละเอียดข้างต้น แม้จำนวนลำโพงในโรงภาพยนตร์จะมีมาก แต่ด้วยช่องสัญญาณเสียงที่จำกัดเพียง 5.1 หรือ 7.1 แชนเนล การจะถ่ายทอดเสียงเอฟเฟ็กต์โอบล้อมรอบทิศทางอันละเอียดลออจากภาพยนตร์ ยังห่างไกลกับคำว่า “สมจริง” อยู่มากนัก และข้อจำกัดอีกประการของระบบ 5.1/7.1 เดิม คือ ลำโพงเซอร์ราวด์และเซอร์ราวด์แบ็ค ยังต้องทำหน้าที่ควบรวมการถ่ายทอดบรรยากาศด้านสูง (Upper Hemisphere) ด้วย (3)  นอกเหนือจากหน้าที่หลักคือสร้างสนามเสียงโอบล้อมด้านหลัง แต่ด้วยตำแหน่งลำโพงที่ไม่ได้อยู่เหนือศีรษะผู้ฟังตรงๆ ก็แน่นอนว่าผลลัพธ์การถ่ายทอดมิติด้านสูงของลำโพงเซอร์ราวด์ และลำโพงเซอร์ราวด์แบ็ค ยังไม่ลงตัวดีนักช่องว่างของการถ่ายทอดมิติเสียงด้านสูงนี้เอง จึงเป็น "โอกาส" ให้ Dolby สร้างสรรค์ระบบเสียงใหม่ขึ้นมา คือ Dolby Atmos!


ทำความรู้จัก Dolby Atmos มาตราฐานระบบเสียงรอบทิศทางใหม่เพื่อการรับชมภาพยนตร์.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.hdplayerthailand.com/article_detail.asp?topic_id=1671 (วันที่ค้นข้อมูล : 29 ตุลาคม 2558).